พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลแห่งอีสาน

           พุทธมณฑลแห่งอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน เขตอำเภอนาดูน เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่นและที่สำคัญยิ่งก็คือการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี รัฐบาลจึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในเนื้อที่ 902 ไร่ โดยบริเวณรอบๆ จะมีพิพิธภัณฑ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา การเดินทางจากตัวเมืองมหาสารคาม โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2045 ถึงอำเภอนาดูน ทางลาดยางตลอด ห่างจากตัวเมืองประมาณ 65 กิโลเมตร

ความเป็นมาของพระธาตุนาดูน
อำเภอนาดูน เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณแห่งหนึ่งที่มีประวัติอันยาวนาน โดยบริเวณที่ตั้งของอำเภอนาดูนคือ เมืองจัมปาศรีที่เจริญรุ่งเรือนในสมัยทวารวดี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15 ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบมากมาย สรุปความดังนี้
ถิ่นฐานอารยธรรมจัมปาศรีในอดีตกาล สันนิษฐานได้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองมา 2 ยุค คือ
1. ยุคทวารวดี ระหว่าง พ.ศ. 1000-1200
2. ยุคลพบุรี ระหว่าง พ.ศ. 1600-1800
ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-16 ภายในตัวเมืองและนอกเมืองมีเจดีย์สมัยทวารวดีอยู่ 25 องค์ (ขณะนี้ได้ขุดค้นพบแล้ว 10 องค์) เจ้าผู้ครองเมืองนครจำปาศรี นับตั้งแต่ พระเจ้ายศวรราช ได้สร้างสถานที่สักการะบูชาในพิธีทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ เช่น เทวาลัย ปรางค์กู่ เป็นต้น ซึ่งถือว่าได้เจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม และการปกครอง จนถึงขีดสุดแล้วได้เสื่อมถอยลงจนถึงยุคอวสานในสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี
ค้นพบและการก่อสร้างพระธาตุนาดูน
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2522 ได้ขุดค้นพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สถูปทำด้วยทองสำริด แยกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ตัวสถูปหรือองค์ระฆัง แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตัวสถูป เป็นส่วนที่บรรจุ พระอังคาร (ขี้เถ้า) เทียนดอกไม้ ตอนคอสถูปเป็นส่วนที่บรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุโดยผอบจะบรรจุพร้อมกัน 3 ชั้น คือ ผอบทองคำ จะซ้อนอยู่ในผอบเงิน ผอบเงินจะซ้อนอยู่ในผอบทองสำริด ทุกผอบมีฝาปิดมิดชิด ภายในผอบทองคำมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ 1 องค์ มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่นขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง หล่อเลี้ยงไว้ด้วยน้ำมันจันทน์เมื่อเปิดออกมาจะมีกลิ่นหอมมาก
2. ส่วนยอดทำด้วยทองสำริดกลมตัน ทำเป็นปล้องไฉนลูกแก้วและปลียอด ตอนต้นทำเป็นเกลียวสามารถปิดประกอบกับส่วนตัวองค์สถูปได้พอดี
พระธาตุนาดูน จำลองแบบสถูปทองสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นศิลปะทวารวดี ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2530 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุนาดูน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530

ความเป็นมาของการขุดค้นพระพิมพ์ดินเผาและพระบรมสารีริกธาตุ

3.1ที่ตั้งเมืองโบราณ : นครจัมปาศรี
จากการศึกษาสภาพภูมิประเทศที่ตั้งนครจัมปาศรี มีลักษณะเป็นรูปไข่ยาวจากเหนือไปใต้ พื้นที่เป็นที่สูงๆ ต่ำ มีหนองน้ำขาดตอนเป็นห้วงๆ อยู่มากมายหลายแห่ง ชาวบ้านเรียกว่า กุด เช่น กุดทอง กุดฮี กุดโด กุลลอบ กุดหล่ม กุดหล่มม่อง กุดอ้อ หนองกุดบอน กุดสระแก้ว กุดฟ้าฮ่วน เป็นต้น หนองน้ำเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากแต่เกิดจากการขุดแต่งของชาวนครจัมปาศรีโบราณ เพื่อกักเก็บน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภคและเป็นคูเมืองป้องกันข้าศึกศัตรู นอกจากนั้นยังมีเศษกระเบื้อง ดินเผา หม้อ ไห แตกกระจายกลาดเกลื่อน อยู่ทั่วไปนั้นแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยของชุมชนขนาดใหญ่ โบราณสถานที่คงสภาพให้เห็นเป็นหลักฐานในปัจจุบัน ได้แก่ กู่สันตรัตน์ กู่น้อย และศาลา นางขาว เมืองนครจัมปาศรีเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยทวารวดี ตัวเมืองเป็นรูปไข่ กำแพงเมืองประกอบด้วยเชิงเทียน 2 ชั้น มีคูอยู่กลาง คูกว้างประมาณ 20 เมตร เชิงเทินดินสูงประมาณ 3 เมตร และกว้างประมาณ 6 เมตร มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-16ภายในตัวเมืองและนอกเมืองมีเจดีย์สมัยทวารวดีอยู่ประมาณ 25 องค์
3.2ลำดับเหตุการณ์ก่อนพบพระบรมสารีริกธาตุ
พื้นที่ของนครจัมปาศรี มีโบราณสถานโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีการขุดพบแล้วหลายแห่ง เช่น
พ.ศ.2511ทหารเรือจากกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งได้ไปขุดค้นหาวัตถุโบราณที่ซากโบราณสถานริมฝั่งห้วยนาดูน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านหนองโง้ง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน ประมาณ 0.5 กม.หรืออยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูนไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กม.ขุดได้พระพิมพ์ดินเผาและวัตถุโบราณอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้วัตถุโบราณชิ้นหนึ่งซึ่งมีรูปลักษณะคล้ายน๊อตสีเขียวเหมือนหยก ทำเป็นมุม 8 เหลี่ยมและ 16 เหลี่ยม ส่วนยอดทำเป็นลักษณะกลมๆ คล้ายขันครอบ ขุดใต้แผ่นอิฐลงไปพบพระพิมพ์ดินเผามีลักษณะเป็นแผ่นขนาดกว้าง 12 นิ้ว ยาวประมาณ 2ฟุต มีพระพุทธรูปบรรจุเรียงรายอยู่จำนวน 108 องค์ เรียกว่า พระมงคล 108จากการขุดครั้งนั้นได้พระพิมพ์ดินเผาประมาณ 3 กล่องกระดาษขนาดใหญ่ (จากคำบอกเล่าของนายเหลือ ปัตตาลาคะ อายุ 80 ปี ราษฎรบ้านหนองโง้ง อำเภอนาดูน)
พ.ศ.2513 ชาวนานาดูนจำนวนหนึ่ง ได้ขุดพบซากโบราณสถานอยู่ทางด้าน ทิศเหนือโรงเรียนชุมชนบ้านกู่โนนเมือง หรืออยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 1 กม.เศษ ได้ขุดพบพระพิมพ์ปางนาคปรกเดี่ยว สีขาวจำนวนมาก และเป็นพระเครื่องนครจัมปาศรีรุ่นแรกที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์เป็นที่เลื่องลือในด้านพุทธคุณเป็นอย่างมาก จนนักเล่นพระได้เข้าไปเสาะหาอยู่มิได้ขาด (จากคำบอกเล่าของนายสมาน บัวบุญ อดีตครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านกู่โนนเมือง)
พ.ศ.2514เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานในพื้นที่อำเภอนาดูนจำนวน 3 แห่ง ดังนี้
1. ขุดแต่งกู่สันตรัตน์ ได้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยลพบุรีหลายชิ้น มีอยู่ชิ้นหนึ่งสวยงามและสมบูรณ์ที่สุด ได้แก่ พระวัชรธร ทำด้วยหินทรายสีเขียว ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
2. ขุดแต่งกู่น้อย ได้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยลพบุรีหลายชิ้น ชิ้นที่สวยที่สุดเป็นเทวรูป พระอิศวร พระนารายณ์ และเศียรเทวรูป ทำด้วยหินทราย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
3. ขุดด้วยศาลานางขาว ได้ขุดพบศิลาจารึก 1 หลัก สูง 21 เซนติเมตร กว้าง 9 เซนติเมตร หนา 4.50 เซนติเมตร มีอักษรจารึกอยู่จำนวน 14 บรรทัด
3.3การค้นพบอันยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ.2522
เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2522ชาวอำเภอนาดูนจำนวนหนึ่ง ได้ขุดค้นหาโบราณวัตถุตามแหล่งโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณรอบกู่สันตรัตน์ กู่น้อย ศาลานางขาว และบริเวณใกล้เคียงในเขตเมืองโบราณ วัตถุโบราณที่ขุดพบส่วนมากเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวนครจัมปาศรีโบราณ ได้แก่ หม้อ ไห เครื่องบดยา เป็นต้นไป
ครั้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2522ชาวอำเภอนาดูนจำนวนหนึ่งได้ขุดพบซากเจดีย์โบราณที่เนินนาซึ่งอยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ500 เมตร หรืออยู่ห่างจากถนนเข้าตัวอำเภอนาดูนทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร ซึ่งบริเวณตรงนั้นเป็นที่นาเจ้าของที่นาปลูกข้าวเป็นประจำทุกปี ไม่เคยคิดว่าจะมีซากโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่ เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ 70เซนติเมตร ก็พบก้อนอิฐขนาดใหญ่ และขุดต่อลึกลงไปอีกก็พบพระพุทธรูปทองสำริดปางห้ามญาติบรรจุอยู่ในไหโบราณขนาดใหญ่ พระพุทธรูปทองสำริดที่พบมีหลายขนาดตั้งแต่ 5 นิ้ว จนถึง 14 นิ้ว รวมจำนวนทั้งหมด50 องค์
ข่าวการขุดพบพระพุทธรูปทองสำริดได้แพร่กระจาออกไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนจากหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอำเภอนาดูน ต่างออกเสาะหาขุดค้นตามแหล่งต่างๆ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บางกลุ่มอาศัยการดูลักษณะพื้นที่ด้วยการสันนิษฐาน บ้างก็ใช้วิธีเสี่ยงทายนั่งทางในตามหลักไสยศาสตร์
ครั้นถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2522ชาวนาดูนกลุ่มหนึ่งจำนวน 11 คน ได้ขุดค้นที่บริเวณเนินดินในที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูน อำเภอนาดูน ลักษณะเนินดินสูงจากระดับพื้นดินเดิมประมาณ 1เมตรเศษ เนื้อดินสีดำยุ่ย มีต้นไม้เล็กๆ ขึ้นปกคลุมอยู่โดยรอบ แต่ตรงกลางจะไม่มีต้นไม้หรือหญ้าเกิดขึ้นเลย มีคันนาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ครั้งแรกขุดทางด้านทิศตะวันออกของเนินดิน ได้ขุดพบก้อนศิลาแลงจำนวน 3 ก้อน และขุดต่อลงไปอีกลึกประมาณ 1.80 เมตร ก็พบวัตถุจำนวนหนึ่งทำด้วยทองสำริดลักษณะเป็นวงแหวน จำนวน 4 ชิ้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และพบทองสำริดซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางแบนยาวประมาณ 5 นิ้ว วัตถุดังกล่าวผุกร่อนจึงไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ เมื่อขุดต่อไปทางทิศตะวันตกอีกประมาณ 1 ศอก ก็พบพระพิมพ์ดินเผาปางต่างๆ จำนวนมาก ได้ทำการขุดต่อตลอดทั้งคืนจนสว่างได้พระพิมพ์ดินเผาทั้งหมด 12 กระสอบปุ๋ย และกลบหลุมดินตอน สว่างเพื่อปกปิดไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้เพื่อจะได้ขุดต่อในวันต่อไป
ข่าวการขุดได้พระพิมพ์ดินเผาครั้งนี้ได้กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2522มีประชาชนจำนวนมากได้หลั่งไหลไปขุดค้นหาพระพิมพ์ดินเผาอย่างเนืองแน่น ต่างก็ได้พระพิมพ์เผาไปคนละมากบ้างน้อยบ้าง พระพิมพ์ที่ได้มีทั้งสมบูรณ์และแตกหัก คืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2522ชาวนาดูนจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันขุดได้พระพิมพ์ดินเผาทั้งสิ้น 6 กระสอบข้าวสาร
วันที่ 24 พฤษภาคม 2522ประชาชนได้เพิ่มทวีมากขึ้นได้เข้าขุดค้นอย่างแน่นขนัด นายทองดี ปะวะภูตา เจ้าของที่นาได้ห้ามไม่ให้ผู้คนเข้าไปขุด โดยกลบหลุมดินทำเป็นแปลงนำพริก มะเขือไปปลูกและล้อมรั้วเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถห้ามผู้คนเข้าไปขุดได้ พอตกกลางคืนก็ลักลอบเข้าขุดค้น ได้พระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมาก ครั้นเวลา 04.00 05.00 น. ของเช้าวันที่ 25 พฤษภาคม 2522ขุดได้พระพิมพ์ทำด้วยศิลาสีเขียวปางนาคปรกขนาดใหญ่ครึ่งองค์ ฐานกว้างประมาณ 50เซนติเมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร หนาประมาณ 20 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 80กิโลเมตร และเป็นพระพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุนี้ ขณะนี้ไม่ทราบว่าอยู่กับท่านผู้ใด
วันที่ 25 พฤษภาคม 2522มีประชาชนจำนวนมากได้เข้าไปขุดค้นอย่างเนื่องแน่นเช่นเคย และได้พระพิมพ์ดินเผากันทุกคน มีชาวนาดูนจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันขุดใต้พระพิมพ์ ดินเผาจำนวน 1 กระสอบข้าวสาร
วันที่ 26 พฤษภาคม 2522ประชาชนยังขุดค้นอยู่เช่นเคย นายทองดี ปะวะภูตา เจ้าของที่นาเห็นว่าไม่สามารถจะห้ามผู้คนเข้าไปขุดค้นได้แล้วจึงได้แจ้งให้นายสมเพช ชื่นตา เจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถานประจำอำเภอนาดูนไปแจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ 7ขอนแก่นได้ทราบ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2522เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ประกอบด้วย นายสถาพร ขวัญยืน นักโบราณคดี ระดับ 3 กับพวกรวม 9 คน เดินทางถึงอำเภอนาดูน และขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าคลุมพื้นที่แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การกระทำในขณะนี้เป็นการทำลายโบราณสถานโบราณวัตถุ ต่อไปนี้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการขุดแต่งเพื่อค้นหาเค้าเงื่อนของโบราณสถานแหล่งนี้ ประชาชนจึงได้งดการขุด
วันที่ 29 พฤษภาคม 2522 ถึงวันที่ 1มิถุนายน 2522 เจ้าหน้าที่หน่วยฯ ได้ทำการขุดแต่งโดยแบ่งเป็นตารางกริด (GRID SYSTEM) ครอบคลุมเนินดินไว้ทั้งหมด และแบ่งเป็น 12 ช่อง แต่ละช่องมีขนาด 4 x 4 เมตร ให้แนวตั้งขนานกับแนวทิศเหนือแม่เหล็ก (MAGNETIC NORTH LINE)การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ในตอนกลางวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในตอนกลางคืนประชาชนจะเข้ารุมล้อมอยู่รอบๆ บริเวณขุดแต่งเพื่อคอยโอกาสเข้าขุดค้นรั้วลวดหนามถูกลักลอบตัดขาดทุกคืน
วันที่ 2-5 มิถุนายน 2522ประชาชนจากที่ต่างๆ ได้ว่าจ้างรถพากันไปมุงดูการ ขุดแต่งของเจ้าหน้าที่ทำให้การปฏิบัติงานไม่สะดวก และการรักษาความปลอดภัยยากยิ่งขึ้น เวลากลางคืนหลุมขุดถูกลักลอบทำลาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ และพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาสถานการณ์ให้เป็นปกติแต่ก็ไม่เป็นผล
วันที่ 6 มิถุนายน 2522 เวลาประมาณ11.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยฯ ได้ปฏิบัติงานอยู่ประชาชนได้เข้ารุมล้อมและเข้าแย่งขุดจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถต้านทานได้ต้องยุติการขุดแต่งโดยปริยาย ประชาชนได้หลั่งไหลเพิ่มทวีอีกนับเป็นพัน กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดมหาสารคามได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นายเข้าสลายฝูงชนในตอนเย็น และนำลวดหีบเพลงเข้าล้อมชั้นนอกของเนินดินไว้อีกชั้นหนึ่ง
วันที่ 7 มิถุนายน 2522เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น เริ่มปฏิบัติงานต่อไป ประชาชนยังรุมล้อมกระจายอยู่รอบนอกเหมือนเดิม ตอนบ่ายหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่นเดินทางไปรับโบราณวัตถุสำคัญที่ขุดพบ จำนวน 18 กล่อง เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
วันที่ 8 มิถุนายน 2522การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ยากลำบากยิ่งขึ้นเนื่องจากกำลังตำรวจที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามได้ถอนตัวออกไปแล้ว คงเหลือแต่กำลังตำรวจภูธรอำเภอนาดูนเท่านั้น ในตอนเช้ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้เข้าไปปราศัยกับราษฎรภายในรั้วลวดหีบเพลง ทำให้ราษฎรมีโอกาสเข้าใกล้หลุมขุดแต่งมากยิ่งขึ้น และได้แย่งเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ขุดจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ กำลังตำรวจส่วนหนึ่งเข้าระงับเหตุการณ์จึงสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้อีก แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตลอด นายสถาพร ขวัญยืน หัวหน้าผู้ดำเนินการขุดแต่งเห็นว่า สถานการณ์เริ่มรุนแรงยากลำบากต่อการปฏิบัติงานขุดแต่ง จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่หน่วยฯ ขุดเจาะลงตรงกลางโบราณสถานเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยฯ ขุดพบยอดสถูปทองสำริด 1 ชิ้น ประชาชนรุมล้อมมุงดูอยู่เห็นเช่นนั้นจึงเข้าแย่งขุดจนเต็มพื้นที่ไปหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าอารักขาเจ้าหน้าที่หน่วยฯ จึงสามารถนำโบราณวัตถุออกจากที่เกิดเหตุได้ เครื่องมือของเจ้าหน้าที่หน่วยฯ บางชิ้นก็สูญหาย ไปในระหว่างเกิดเหตุ ในขณะนั้น นายบุญจันทร์ เกษแสนศรี นักการภารโรงที่ดินอำเภอนาดูนได้เข้าไปขุดค้นและพบตัวสถูปทองสำริด 1 ชิ้น นายธีรยุทธ ทรพีสิงห์ ราษฎรบ้านหัวโสก ขุดพบแผ่นทองกลีบบัวซึ่งเป็นที่รองรับองค์สถูป 1 ชิ้น ในตอนบ่ายประชาชนได้หลั่งไหลเพิ่มทวีมากขึ้น เข้าแย่งพื้นที่กันขุดวุ่นวานสับสนอลหม่าน หลายคนเป็นลมคาหลุมขุด มีรถแทรกเตอร์และรถดั้มไปขุดตักดินที่หลุมขุดเสียงดังสนั่นไหวั่นไหวและขนดินไปเทค้นหาโบราณวัตถุที่อำเภอใกล้เคียง นี่คือเหตุการณ์บางส่วนเท่านั้น

โฆษณา