ไปเที่ยวดอยอ่างข่าง

ประวัติความเป็นมา
ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่บนทิวเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคำว่า "อ่างขาง" ในภาษาเหนือ หมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขายาวล้อมรอบประมาณ 5 กิโลเมตร กว้าง 3 กิโลเมตร ตรงกลางของอ่างขางเดิมเป็นภูเขาสูงเช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็ค่อยๆ ละลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่ง มีพื้นที่ราบ ความกว้างไม่เกิน 200 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง” เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อน
เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่หมู่บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้
จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับ พระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"
ข้อมูลทั่วไป
ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่บนทิวเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศาเซลเซียส
บนดอยอ่างขางมีสถานที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ตั้งอยู่ในเขตบ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรประมาณ 1,800 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่สถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนอแล บ้านขอบด้ง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม และบ้านหลวง ซึ่งประกอบไปด้วยประชากร 4 เผ่าได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ
สถานที่ท่องเที่ยวในโครงการเกษตรหลวงดอยอ่างขาง ได้แก่
  • เรือนดอกไม้
    มีการจัดแสดงพรรณไม้ไว้เป็นกลุ่มตามฤดูกาล เช่น สวนกล้วยไม้ซิมบิเดียม , กลุ่มกล้วยไม้รองเท้านารี , กลุ่มดอกโคมญี่ปุ่น , ไม้ดอกกระถางตามฤดูกาล , ไม้ดอกตามฤดูกาลกลางแจ้ง และพืชกินแมลง
 จุดชมวิวชายแดนไทยพม่า
จุดนี้จะตั้งอยู่ ณ ฐานทหารไทยบริเวณเดียวกับหมู่บ้านนอแล ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างชายแดนไทยและชายแดนของประเทศพม่า ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพของฝั่งประเทศพม่าได้ นอกจากนี้ ยังจะได้ชมแบบบ้านตัวอย่างของทหารว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร


ดอยอ่างขาง เทือกดอยสูงในเขตอำเภอฝาง จังหวังเชียงใหม่แห่งนี้ นับได้ว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างที่แหละท่องเที่ยวบนภูเขาสูงภาคเหนือควรจะมี และมีแบบไม่ธรรมดาเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นจุดชมวิวสวย ๆ ทะเลหมอกแน่นขนัด พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ดอกไม้ พรรณไม้สวย ๆ โดยเฉพาะดอกซากุระ หรือพญาเสือโคร่ง เมเปิลผลัดใบ กล้วยไม้ป่า ดอกบ๊วย ดอกท้อ ตลอดจนมีชนชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ที่มีเครื่องแต่งกายสวยงามเป็นสีสันอันงดงามของการท่องเที่ยวภูเขาในหน้าหนาวอยู่อาศัย

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความแตกต่าง เป็นสิ่งที่แหล่งท่องเที่ยวที่อื่น ๆ จะไม่มีก็คือประวิติความเป็นมาอันยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวพันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทยเรา ที่พระองค์ทรงมีความห่วงใยต่อปวงพสกนิกรทั้งหลาย ทั้งชาวไทยภูเขาบนดอยที่มีความเป็นอยู่ยากแค้น ต้องเผาป่า ตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น       เป็นเหตุให้ต้องมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ทางราชการ ตลอดจนทรงห่วงใยประชาชนไทยพื้นล่างที่ต้องรับผลของการตัดไม้ทำลายป่าข้างบน เกิดสภาพดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมใหญ่ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงใช้พื้นที่ดอยอ่างขางเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาทดลองและปฏิบัติการปลูกพืชไร่และผักผลไม้เมืองหนาวทดแทนฝิ่น ที่ต่อมาผลการปฏิบัติพระราชภารกิจนั้นได้พัฒนาก้าวหน้าแปรเปลี่ยนไปจนก่อกำเนิดขึ้นเป็น “โครงการหลวง” ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก

ขึ้นดอยอ่างขาง ชมธรรมชาติงาม ต้นฤดูหนาว
และคราวนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทีมงาน อ.ส.ท. เราขึ้นมาบนดอยอ่างขาง คราวนี้ขึ้นมาในช่วงต้นฤดูหนาว   ที่ลมหนาวเริ่มพัดโชยมาอ่อน ๆ ต้นพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทยส่วนใหญ่เพิ่งทิ้งใบ ในขณะที่บางต้นเริ่ม      ผลิดอกสีชมพูเบาบาง ใบเมเปิลเริ่มเปลี่ยนสี สีสันแห่งการท่องเที่ยวเพิ่งจะเริ่มฉูดฉาดขึ้นและภารกิจหนึ่งที่พ่วงท้ายเรามาคราวนี้ก็คือ มาเพื่อสำรวจพื้นที่เพื่อที่จะนำพาคณะทัวร์ของสมาชิกรายปีของอนุสาร อ.ส.ท. ขึ้นมาท่องเที่ยวบนนี้ ในรายการท่องเที่ยวสุดยอด “เดินตามรอยเท้าพ่อ บนดอยอ่างขาง” ที่จัดขึ้นโดยรีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง     ที่พักสุดหรูบนดอยอ่างขาง ในเครืออมารี ที่มีเจตนาให้นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวบนดอยอ่างขาง นอกจากจะได้รับความประทับใจจากทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามแล้วยังจะได้ซาบซึ้งกับพระมหากรุณาธิคุณของ                      องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

ในวันนี้การเดินทางขึ้นสู่ยอดดอยอ่างขางสามารถขึ้นได้จากอำเภอไชยปราการ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๘ เส้นทางจะนำพาขึ้นมาบนดอยอ่างขางแบบค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาแบบสบาย ๆ ไม่ตัดขึ้นเขามาอย่างพรวดพราด วนซ้ายวนขวา หักศอกแบบสุดอันตราย อย่างเส้นทางจากอำเภอฝาง โดยตลอดเส้นทางนั้น หากมีเวลาก็จะสามรถแวะท่องเที่ยวได้ตลอด อย่างที่แรกที่หมู่บ้านอรุโณทัย ซึ่งเป็นหมูบ้านชาวจีนฮ่อ กองพล ๙๓ หรือกองทัพจีนยูนนานภาคใต้ ที่ถอยร่นพ่อยกองทัพจีนคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตง เข้ามาในดินแดนแถบนี้ และในที่สุด ประเทศไทยก็มีใจอารี รับเอากองทัพนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยราวปี พ.ศ. ๒๔๙๗

กองทัพจีนฮ่อ กองพล ๙๓ ในครั้งนั้น เข้ามาในประเทศไทยโดยแบ่งเป็นสองกองทัพใหญ่ คือกองทัพของนายพลหลี่เหวินหวน ได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่แถบอำเภอฝาง ไชยปราการ และ เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่แถบนี้ และกองทัพนายพลต้วนซีเหวิน ที่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบดอยแม่สลอง ดอยผาหม่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งในระยะแรกที่กองทัพเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัย พื้นที่เหล่านี้ต่างก็เป็นพื้นที่บ้านป่าดงดอย        นาน ๆ ครั้งจึงจะมีผู้คนต่างถิ่นเดินทางเข้ามาสักครั้ง แต่ต่อมาเมื่อบ้านเมืองพัฒนาขึ้น พื้นที่เกือบทุกแห่งที่กองพล ๙๓ ตั้งอยู่ต่างก็กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญไปเสียแล้ว แทบทุกแห่ง

จากบ้านอรุโณทัย เส้นทางก็พาต่อมาที่  ถ้าง้อบ หรือบ้านผาแดง ที่นี่ในอดีตเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของนายพลหลี่เหวินหวน ที่นี่วันนี้ มีร้านค้า สินค้าที่ระลึกของชาวจีนยูนนาน และรายการพาเที่ยวถ้ำง้อบให้เป็น             การท่องเที่ยวทางเลือก ถัดจากถ้ำง้อบ ก็จะมาถึง บ้านหลวง ที่เป็นหมู่บ้านชาวจีนฮ่อขนาดใหญ่ มองไปรอบด้านภูมิสถานของบ้านเรือนก็จะดูละม้ายไปทางหมู่บ้านชาวจีน แต่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเสียอย่างนั้น สิ่งที่ดูแปลกตาไปอีกอย่างหนึ่งก็คือที่หมูบ้านนี้จะมีมัสยิดในศาสนาอิสลามอยู่ด้วย ซึ่งนั่นก็เพราะทหารจีนยูนนานที่เข้ามาในประเทศไทยครั้งนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากที่เป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง

ในปัจจุบันชาวจีนยูนนานในพื้นที่กองพล ๙๓ ทั้งหลายได้ขยายครอบครัวออกไป และบุตรหลานส่วนใหญ่ก็จะได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น คนหนุ่มสาวจำนวนมากจึงต่างออกไปทำงานในพื้นที่ไกล ๆ หมู่บ้านในวันนี้จึงค่อนข้างเงียบเหงา มีเหลือคนอยู่แต่เพียงเด็ก ๆ และคนชราเท่านั้น


ขึ้นไปบนดอยอ่างขาง เราก็ตรงเข้าไปประสานงานที่รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขางทันที รีสอร์ตแห่งนี้เป็นที่พัก  ที่หรูที่สุดบนดอยอ่างขาง เป็นเครือเดียวกับโรงแรมอมารีที่มีที่พักอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทย และคณะทัวร์ของ อ.ส.ท. เราก็จะพักที่นี่ด้วย ทีเด็ดของที่พักแห่งนี้มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือวัตถุดิบในการจัดทำอาหารของเมนูอาหารต่างๆ ที่นี่จะใช้วัตถุดิบที่เป็นผลิตผลของโครงการหลวงทั้งสิ้น อาหารจึงสดอร่อย เป็นพิเศษ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นทีเด็ดก็คือ ภายในห้องพักที่นอกจากจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างปรกติแล้ว   ที่นอนที่นี่ยังมีระบบไฟฟ้าให้ความร้อน ทำให้ที่นอนอบอุ่นเป็นพิเศษอีกด้วย

และทีเด็ดที่สุดของที่นี่ก็คือ รายการท่องเที่ยวโครงการเดินตามรอยเท้าพ่อ บนดอยอ่างขางนั่นเอง    สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นหมูคณะ หากสนใจที่จะเข้าร่วมรายการท่องเที่ยวนี้ ก็สามารถแจ้งกับทางโรงแรมได้เลย


สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
อ.ส.ท. เราใช้เวลาติดต่อประสานงานกับรีสอร์ทธรรมชาติอ่างขางไม่นานก็เรียบร้อย จากนั้นก็เริ่ม        ออกเที่ยวดอยอ่างขางกันเลย ไม่ให้เสียเวลา และที่แรกที่ออกไปเที่ยวก็ไม่มีอะไรยากเย็น เมื่อได้ขึ้นมาพักที่            รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขางแห่งนี้ วิธีการออกไปเที่ยวก็แค่เดินเท้าออกจากห้องพักไปอีกนิดเดียว เราก็ไปถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกันแล้ว

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางแห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๒ โดยแรกเริ่มใช้พระราชทรัพย์ ๑,๕๐๐ บาท ซื้อพื้นที่จากชาวไทยภูเขาจำนวน ๑๐ ไร่ จัดสร้างเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว เรียกกันในคราวนั้นว่าสวนพันห้า ส่วนสาเหตุที่มุ่งไปที่พืชผักผลไม้เมืองหนาวนั้น ส่วนหนึ่งก็ดังที่ท่านประธานมูลนิธิโครงการหลวง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เล่าไว้ก็คือ พวกม้งที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงกับพระตำหนัก  ภูพิงคราชนิเวศน์ได้กราบทูลในหลวงว่า แค่เก็บลูกท้อพันธุ์พื้นเมืองลูกเล็ก ๆ มาดอง ก็ขายได้เงินไม่น้อยกว่าฝิ่นแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และมุ่งมั่นที่จะใช้พืชผักผลไม้เมืองหนาวนี้มาให้ชาวไทยภูเขาปลูกทดแทนฝิ่น และในวันนี้ก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี ในปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ขยายพื้นที่จาก ๑๐ ไร่ กลายเป็น ๓๕๐ ไร่ จากพื้นที่ทุ่งหญ้าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย กลายเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น บางส่วน  ก็เป็นป่าไปแล้ว

สถานที่ควรชมด้วยวิธีเดินในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง แห่งแรกที่เราไปถึงก็คือ โรงเรือนดอกไม้ ซึ่งจัดแสดงดอกไม้เมืองหนาวนานาพรรณ แค่โรงเรือนนี้ก็ชมกันได้แบบไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ออกมานอกโรงเรือน ยังมีแปลงดอกไม้กลางแจ้ง โรงเรือนกุหลาบตัดดอก สวนบอนไซ เรือนกระบองเพชร ส่วนไผ่            สวนสมุนไพร และโรงชิมชา จนเราหมดเวลาในการเดินชมไปถ่ายภาพไปกว่าสองชั่วโมง จึงมาหยุดที่สโมสรอ่างขาง ที่นี่มีสิ่งที่ใคร ๆ ก็สนใจอยู่ ๒ อย่าง คือ อาหาร และเครื่องดื่ม เครื่องดื่มมีทั้งกาแฟอาราบิกาของโครงการหลวง หรือกาแฟดอยคำ และน้ำผลไม้เมืองหนาวสดปั่นนานาชนิด อร่อยจริงๆ ส่วนอาหารก็เป็นอาหารตามสั่งที่ใช้ผักผลไม้ชนิดสดจากไร่ของโครงการหลวงมาทำให้รับประทาน ก็อร่อยสุด ๆ ไปเช่นกัน

ตรงด้านหน้าของสโมสรอ่างขางยังมีสวนดอกไม้ให้เดินชมเล่นอีกสองสวน คือ สวนกุหลาบอังกฤษ และ สวน ๘๐ จบจากเดินเล่นสองสวนนี้แล้วก็สมควรขึ้นรถออกไปชมแปลงต้นบ๊วย ต้นท้อ ที่กำลังผลิดอกสีขาว สีชมพูบานสะพรั่งงดงามมาก

เท่านี้ก็เป็นอันว่าหมดวันแล้ว ก่อนกลับเข้าสู่รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขางเราไปแวะที่ตลาดดอยอ่างขาง          ที่ตรงนั้นมีสินค้าของชาวบ้านนานาชนิดวางขาย ที่เด่น ๆ ก็จะเป็นพวกผลไม้ดองนานาชนิด พวกเสื้อผ้าสำหรับ     กันหนาว และสินค้าที่ระลึกพวกเสื้อยืด ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว และของใช้ต่าง ๆ ที่ออกแบบเก๋ไก๋ มีสัญลักษณ์ของดอยอ่างขางประดับไว้ แต่ที่เราอดไม่ได้ที่จะต้องแวะอุดหนุน เพราะอากาศบนดอยหนาวเหน็บ ก็คือน้ำเก๊กฮวยผสมน้ำผึ้งร้อน ๆ ชานมร้อน ๆ กินกับโรตีร้อน ๆ เป็นออร์เดิฟวร์ ก่อนที่จะเดินเข้าร้านอาหารไปสั่งอาหารเย็นแบบจีนยูนนานรับประทานกันอย่างอิ่มอร่อย

ชมธรรมชาติงาม บนดอยอ่างขาง
วันรุ่งขึ้น เราตื่นกันตั้งแต่ตีห้า นึกว่าตื่นเช้าแล้ว ที่ไหนได้ ข้างนอกบนถนนรถยนต์จากที่พักเอกชนหลาย ๆ แห่งวิ่งกันอย่างคึกคักแล้ว และผู้คนทั้งหมดก็ไปพร้อมกันที่จุดชมวิวทะเลหมอกของดอยอ่างขางนับร้อยชีวิต            ที่ตรงนั้นพระอาทิตย์กำลังจะขึ้นสู่ขอบฟ้า โดยค่อย ๆ แหวกทะเลหมอกสีขาวหนาทึบขึ้นไปสู่ท้องฟ้าสีส้มแดง     อย่างสวยงาม

ความงามของทะเลหมอกตรงนั้นทำให้หลาย ๆ คนประทับใจและจบเช้าวันนั้นไปอย่างมีความสุข            แต่สำหรับเราความสวยงามยังมีต่อ จบจากที่ชมทะเลหมอก เราย้ายตัวเองเข้าไปในหุบเขาที่อบอุ่นด้วยไอหมอกหนา ที่ตรงนั้นมีแปลงสตรอว์เบอร์รี่ของชาวอ่างขางวางตัวลงไปตามเนินลาดชันอย่างสวยงาม แล้วเราก็ได้         ภาพสวย ๆ ของที่ตรงนั้นมาไว้อวดใครต่อใครหลาย ๆ ภาพ ลงจากแปลงสตรอว์เบอร์รี่มาอีกระดับหนึ่ง ที่ตรงนั้นก็มีไร่ชาที่วางตัวงดงามบนความลาดชันของหุบเขาท่ามกลางไอหมอกอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้ภาพงาม ๆ ของที่นี่มาไว้อวดใคร ๆ ได้อีกเช่นกัน

เสร็จจากมุมสวย ๆ สองมุมที่แปลงสตรอว์เบอร์รี่และไร่ชา เราก็เร่ไปที่หน้ารีสอร์ทอ่างขาง เดินข้ามถนนไปหน่อย ที่ตรงนั้นเป็นบ้านพักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานสาธารณสุข ภาพทิวทัศน์สวย ๆ แรง ๆ ของดอยอ่างขาง วางตัวอยู่ตรงหน้าเราตรงนั้น และที่นี่ เราก็ได้ภาพสวย ๆ มาอวดผู้อ่าน อ.ส.ท. อีกไม่น้อย

นอกจากมุมสวย ๆ แบบกว้าง ๆ สองสามมุมที่เรามานำพาคุณไปรู้จักแล้ว หากในช่วงกลางฤดูหนาว          ที่ดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทยผลิบานเต็มต้น มุมสวย ๆ บนดอยอ่างขางที่มีต้นพญาเสือโคร่งสีชมพูสดเป็นองค์ประกอบก็ยังจะมีให้ได้ถ่ายภาพกันอีกมากมายหลายมุมเลยทีเดียว

ชาวปะหล่อง และพิธีสืบชะตาน้ำ
สายวันนี้ที่หมู่บ้านของขอบด้ง หมู่บ้านของชาวประหล่อง ชาวบ้านจัดพิธีสืบชะตาน้ำถวายแด่                องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันนี้ชาวปะหล่องทั้งหมูบ้านที่นี่ และชาวปะหล่องที่แยกหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น   จึงต่างมารวมกันประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรมนี้ก็เป็นดังการให้สัตย์สาบานว่า จะพร้อมใจกันดูแลรักษาน้ำ ทรัพยากรอันทรงคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งบนภูเขาและทางพื้นราบนี้ไว้ตลอดไป

ความจริงชาวปะหล่องไม่ใช่ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ แต่เป็นคนที่อื่นที่เพิ่งเข้ามาอยู่ที่นี่ ชาวปะหล่องนี้เรียกตัวเองว่าดาระอั้ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับชาวไทยใหญ่ในพม่า แต่ด้วยความที่เป็นชนกลุ่มน้อยในขณะที่                ชนกลุ่มใหญ่กว่าอย่างพม่า ไทยใหญ่ กำลังทำสงครามระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้ชาวปะหล่องจึงกลายเป็นหญ้าแพรก เมื่อช้างสารชนกัน ทั้งกองทัพพม่าทั้งทหารไทยใหญ่ ถ้าพบเห็นปะหล่องก็มักจะจับตัวเอามาเป็นทาสให้แบก   เครื่องสรรพาวุธ หรือแบกเสบียงอาหารไปรบ ทำให้ชาวปะหล่องต้องล้มตายไปในสงครามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องนี้       เป็นจำนวนมาก

ชาวปะหล่องจึงวางแผนกันอพยพหลบภัยสงคราม ครั้นเมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว           จะเสด็จมายังดอยอ่างขางในวันหนึ่ง จึงส่งหัวหน้า นายโม มันเฮิง พากันมารอคอย และได้เข้าเฝ้าฯ จึงได้ทูลขอเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาต หัวหน้าชาวปะหล่องจึงกลับไปอพยพครอบครัวเข้ามาอยู่ในเขตแดนไทย และได้รับพื้นที่บริเวณหมู่บ้านขอบด้ง ประชิดแนวชายแดนไทย – พม่า เป็นที่อยู่อาศัย จากการอพยพเข้ามาคราวแรกเพียงสองสามร้อยคน ปัจจุบันนี้ชาวปะหล่องขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมู่บ้าน มีจำนวนประชากรมากขึ้นจนจะเป็นหมื่นคนแล้ว

ถ้าในหลวงไม่มีพระบรมราชานุญาต ก็คงจะไม่มีชาวปะหล่อง ชนเผ่าชาวพุทธที่สวยงามนี้อยู่ในประเทศไทย และก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่าชาวเผ่านี้จะต้องผจญกรรมจากการสู้รบกันในพม่าต่อไปอย่างไร และอีกนานเท่าใด

ชาวมูเซอดำจึงนับเป็นชาวเผ่าเจ้าของพื้นที่ของดอยอ่างขางบริเวณนี้ ชาวมูเซอดำเป็นชาวเผ่านายพราน  ที่อยู่ในป่าแบบสมถะ แตกต่างจากชาวเผ่าม้ง ลีซอ หรือเย้า ที่ชอบค้าขายและทำพืชไร่อย่างเอาจริงเอาจังจนถางไร่ทำลายภูเขาไปคราวละหลาย ๆ ลูกในฤดูการทำไร่แต่ละครั้ง และชาวมูเซอนี่แหละ ที่เป็นชาวเผ่าต้นแบบแห่ง      ดอยอ่างขาง ที่ในหลวงได้ทรงหาข้อมูลต่าง ๆ ของชาวไทยภูเขา เพราะสำหรับชาวไทยภูเขาทั้งหลายนั้น ภาษามูเซอดูจะเป็นภาษากลางที่ชาวเผ่าอื่น ๆ ต้องมาเรียนรู้ไว้

และชาวมูเซอบนดอยอ่างขางก็ได้รับการดูแลจากโครงการหลวงไม่ได้ด้วยไปกว่าชาวปะหล่อง ทั้งชาวมูเซอและปะหล่องจึงต่างทำมาหากินและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้นบนพื้นที่ดอยอ่างขางแห่งนี้

เดินตามรอยเท้าพ่อ บนดอยอ่างขาง
แล้วเราก็มาเข้าสู่โปรแกรมท่องเที่ยวเดินตามรอยเท้าพ่อ บนดอยอ่างขาง ซึ่งริเริ่มจัดทำขึ้นโดยคุณ           มาคู่ เตชะโสภณ อดีต GM ใหญ่ของรีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวชนิดเดินเท้าเที่ยว สลับกับการนั่งรถยนต์เที่ยวไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของดอยอ่างขาง โดยทัวร์นี้จะเน้นย้ำพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของ     ในหลวงบนดอยแห่งนี้ ที่ใคร ๆ ก็ไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว พระองค์ท่านได้เสด็จโดยพระบาทไปบนพื้นที่แทบจะทุกตารางนิ้วของที่นี่ เพื่อทรงเรียนรู้พื้นที่และเรื่องราวต่าง ๆ ของชาวไทยภูเขา เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับ   ชาวไทยภูเขาอย่างถูกต้อง

นอกจากการท่องเที่ยวในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางแล้ว ทัวร์นี้ก็จะพาคุณ ๆ เดินด้วยเท้า ตามรอยพระบาทไปบนพื้นที่ดอยอ่างขางทีละก้าว ก้าวต่อก้าว ไปยังต้นกาแฟต้นแรกที่ในหลวงทรงนำพาชาวมูเซอ           เดินเท้าไปดู เพื่อนำเมล็ดกาแฟกลับมาขยายพันธุ์เพราะปลูก ทำให้กาแฟอาราบิกาดอยคำเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก     บนดอยอ่างขาง เดินเท่าไปดูแปลงผักผลไม้ต่าง ๆ ของชาวบ้าน ค่อย ๆ ดูไป อธิบายไป จนเข้าใจแจ่มชัดว่าพระองค์ได้ทรงมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดไว้ ณ ที่นี่บ้าง และในขณะที่เดินเท้าท่องเที่ยวไปก็จะมีพยานบุคคลต่าง ๆ ที่เคยอยู่ที่นี่สมัยที่พระองค์ได้เสด็จมา มาช่วยคุย ช่วยอธิบาย อย่างเช่น คุณครูเรียม สิงห์ธร คุณครูดอยผู้ที่พระองค์ทรงให้กำลังใจและฝากฝังเด็ก ๆ บนดอยอ่างขางนี้ไว้กับคุณครู ทำให้คุณครูมีพลังใจที่จะทำงานอยู่บนดอยนี้ต่อไป หลังจากเคยเตรียมตัวจะหนีลงจากดอยมาแล้ว หรืออย่างเช่น จะหมอ ผู้ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้านมูเซอนอแล ที่ได้ถวายข้อมูลเกี่ยวกับชาวมูเซอที่นี่แด่พระองค์อย่างละเอียด เป็นต้น

สรุปปิดท้ายของการท่องเที่ยวรายการนี้ ก็คือสิ่งที่ลูกทัวร์ทุกคนจะได้รับกลับไป ซึ่งนั่นก็คือความรู้ ความรัก และความประทับใจในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ซึ่งปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเหนื่อยยาก เพื่อประชาชนของพระองค์ เป็นกำไรทางการท่องเที่ยวนอกเหนือจากความสุขสนุกสนานจากการเที่ยวชมธรรมชาติอันงดงาม ซึ่งใคร ๆ ที่มาท่องเที่ยวบนดอยอ่างขางแห่งนี้ก็จะได้รับกลับไปเหมือน ๆ กัน



ขอบคุณที่มา อภินันท์ บัวหภักดี

โฆษณา