รัชกาลที่ 1 : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
คติ : ร่มเย็นเป็นสุข
เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดโพธิ์" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ "วัดโพธาราม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" และทรงสร้าง "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกนิธาน" เพื่ออุทิศถวาย รัชกาลที่ 2 และทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน" จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้
ที่วัดโพธิ์มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชี บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 มีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด และองค์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนพื้นพระบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ นอกจากนั้น วัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99 องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 1- 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในปัจจุบันวัดโพธิ์เปิดอบรมเผยแพร่วิชาการแพทย์แผนโบราณ โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข
สถานที่ตั้ง : ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
รัชกาลที่ 2 : วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
คติ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนคู่
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" และในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งนี้ วัดอรุณราชวราราม เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว นอกจากนั้นยังมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มยอดพระมงกุฏ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยักษ์วัดแจ้ง"
ภายในมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น พระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ เทศน์พระธัมมจักร ตรัสรู้ นิพพาน การเดินเวียนทักษิณาวัดรอบพระปรางค์ 3 รอบ โดยเดินเวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เพื่อความเป็นสิริมงคล, มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาตุที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์
สถานที่ตั้ง : ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
รัชกาลที่ 3 : วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชโอรส พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า "วัดจอมทอง" หรือ "วัดเจ้าทอง" หรือ "วัดกองทอง"
เมื่อ พ.ศ. 2363 มีข่าวว่าพม่าเตรียมยกทัพเข้ามาตีสยาม รัชกาลที่ 2 จึงโปรดฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นแม่ทัพ คุมพลไปรบกับพม่า ทางเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองแห่งนี้ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวารตามลักษณะพิชัยสงคราม อธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่เนื่องจากพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงเสด็จกลับพระนคร และโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง อีกทั้งทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส"
สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระอุโบสถ ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างไทยกับจีน หลังคาเป็นแบบจีนมุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตกแต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน, พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 1 วา 2 ศอก หรือประมาณ 3.10 เมตร สูงประมาณ 2 วา 1 ศอก หรือ ประมาณ 4.50 เมตร รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารของรัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา และเมื่อ พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น)
และพระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล รัชกาลที่ 3 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง จะทรงประทับที่พระแท่นใต้ต้นพิกุลใหญ่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถนี้เสมอ และเล่ากันว่าพระองค์เคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้" ด้วยเหตุนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาพระอารามแห่งนี้ ก็จะทรงมาถวายสักการะพระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุลนี้เสมอ และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระราชกฐินหรือเจ้านายเสด็จในการทอดกฐินพระราชทาน เจ้าหน้าที่จะตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะ ณ พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุลนี้ด้วยทุกครั้ง
สถานที่ตั้ง : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
รัชกาลที่ 4 : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณี และทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดนี้ขึ้น ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระองค์และข้าราชบริพาร ที่ต้องการทำบุญกับวัดธรรมยุติกนิกายไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุติ
และเพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลีและภาษาไทย โดยเป็นบทพระราชนิพนธ์ รวม 10 หลัก ปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ. 2411 เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูก อนึ่ง ในอดีตได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต บ้าง หรือ วัดทรงประดิษฐ์ บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า "วัดราชประดิษฐ์" หรือ "วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม" ถึงกับทรงออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม
สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระวิหารหลวง ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อน ๆ มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับเสริมด้วยพระวิหารหลวง ทำให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย ทั้งนี้ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีพระอุโบสถ มีเฉพาะพระวิหารหลวงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม ดังนั้น พระวิหารหลวงจึงถือว่าเป็นพระอุโบสถของวัดด้วย, พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีหน้าตักราว 1 ศอก 6 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้ษุษบก อนึ่ง ภายหลังรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ บรรจุ ภายในพระพุทธอาสน์ของ "พระพุทธสิหังคปฏิมากร"
พระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ คือ ปาสาณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งองค์ เป็นที่มาของคำว่า ปาสาณเจดีย์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์หิน และด้านหน้าปาสาณเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐาน, ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระวิหารหลวง เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ เพดานประดับด้วยดวงตราประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 บริเวณนี้เป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี หรือเขตสังฆาวาส อันเป็นบริเวณที่ห้ามสตรีผ่านเข้าออก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ตั้งกุฏิสงฆ์ มีป้ายปิดที่ประตูว่า ห้ามสตรีเพศผ่าน ด้วยเพราะธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก
และศิลาจารึก ด้านหลังพระวิหารหลวงมีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน ศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ฉบับ
ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จารึกในปีพุทธศักราช 2407
ฉบับหลังเป็นประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด จารึกในปีพุทธศักราช 2408
ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ลงพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อความในศิลาจารึกทั้ง 2 ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ ซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย
สถานที่ตั้ง : ถนนสราญรมณ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 7 : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระอารามประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยสร้างเลียนแบบ 2 วัดคือ วัดพระปฐมเจดีย์ กับ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2412 เมื่อทรงเสวยราชสมบัติได้ 1 ปี เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงคำนึงถึงว่าวัดเป็นศาสนสถานที่ได้มีการสร้างขึ้นมามากแล้ว จึงทรงโปรดฯ ให้สร้างโรงเรียนวชิราวุธเป็นสถานศึกษาของกุลบุตร แทนการสร้างวัด ด้วยแนวทางพระราชดำรินี้ รัชกาลที่ 7 ก็มิได้ทรงสร้างวัด หากทรงรับพระราชทานภาระทะนุบำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามนี้แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล
นอกจากเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 แล้ว ยังเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และ สมเด็จพระสังฆราช คือ องค์ที่ 11 และองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร รัชกาลที่ 5 โปรดให้ถวายเทศน์มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์สักกบรรพ ประทับ ณ การเปรียญคณะนอก โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาประทับแรมอยู่ด้วย
สำหรับคำว่า "ราชบพิธ" หมายถึง พระราชาทรงสร้าง กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสี พระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ ส่วนคำว่า "สถิตมหาสีมาราม" ก็คือ เป็นวัดที่ประดิษฐานเสมาขนาดใหญ่ ซึ่งตามปกติแล้วเสมาของวัดโดยทั่วไปจะอยู่ตามมุม หรือติดอยู่กับตัวพระอุโบสถ แต่เสมาของวัดนี้ตั้งอยู่บนกำแพงรอบวัดถึง 8 ด้าน จึงเป็นการขยายเขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ให้กว้างขึ้น
บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของ พระบรมวงศ์เธอกรมหลวง บดินทร ไพศาลโสภณ ทั้งนี้ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2412 - พ.ศ. 2413 (สมัยรัชกาลที่ 5) นิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษา พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ โดยภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง
สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระเจดีย์ ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อัดพิมพ์นูนทั้งองค์ ฐานทักษิณเจาะเป็นซุ้มคูหา 16 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ 14 ซุ้ม และพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช, สุสานหลวง มีอนุสาวรีย์ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรางคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นแม่กองจัดทำและออกแบบก่อสร้าง ต่อมาพระบรมวงศ์ฯ สร้างขึ้นในชั้นหลังบ้างโดยตกแต่งเป็นงานศิลปกรรมหลากหลาย ล้วนมีคุณค่างานศิลปกรรมทั้งสิ้นอยู่นอกกำแพงด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันอนุสาวรีย์มีจำนวน 34 องค์ อนุสาวรีย์เหล่านี้เป็นสังเวชนียสถานเครื่องเตือนใจ ให้ได้มรณานุสติระลึกถึงความตาย และความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารได้อย่างดียิ่ง
พระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานบนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี มีพระนามว่า "พระพุทธอังคีรส" แปลว่า มีรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย หล่อในสมัยรัชกาลที่ 4 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่ตกแต่งพระองค์รัชกาลที่ 5 แต่ยังทรงพระเยาว์ ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท รองรับเหนือองค์พระพุทธอังคีรส มีนพปฏลมหาเศวตฉัตรกั้น เดิมเป็นเศวตฉัตรกั้นเหนือพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ภายใต้ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิ 6 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, สมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 3 และพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ธิดาในรัชกาลที่ 3 (พระอภิบาลรัชกาลที่ 5 แต่ทรงพระเยาว์
พระอุโบสถ ภายนอกเป็นศิลปะประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ที่งามวิจิตร เป็นเอกลักษณ์พิเศษแห่งเดียวในประเทศไทย, ตำหนักอรุณ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของ พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ 1 เป็นอาคาร 3 ชั้น มีทางเชื่อมกับพระที่นั่งสีตลาภิรมย์, เกยและพลับพลาเปลื้องเครื่อง อยู่ที่กำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือ หน้าบันเป็นตราราชวัลลภ บานประตูหน้าต่างแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกสี ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนพยุหยาดตราทางสถลมารค โดยพระราชยานหาม (ทางบก) ใช้เป็นที่ทรงแต่งพระองค์ในพลับพลาเปลื้องเครื่องนั้น
สถานที่ตั้ง : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
**หมายเหตุ พระอุโบสถของวัดราชบพิธฯ จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาและวันพระเท่านั้น
รัชกาลที่ 6 : วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
คติ : พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก
ด้วยเหตุผลที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่มีพระบรมราชโองการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล แต่พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ บรรจุที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และฐานพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตามที่มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรม จึงมีผู้เห็นว่าควรเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 ไป
สำหรับ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2367 - 2375 เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดใหม่ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนา สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จมาประทับเมื่อปี พ.ศ. 2375 นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่รัชกาลที่ 6, รัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช เป็นวัดของคณะ สงฆ์ฝ่ายคามวาสีของธรรมยุติกนิกาย
สิ่งสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระประธานในพระอุโบสถและพระพุทธชินสีห์ วิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช
สถานที่ตั้ง : ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
รัชกาลที่ 8 : วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร
คติ : วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป
เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม
วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร เป็นพระอามามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ "วัดมหาสุทธาวาส" วันนี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2350 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม"
ที่พระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยสำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงาม รอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์, มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์อื่น ๆ, มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน
สถานที่ตั้ง : บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร
รัชกาลที่ 9 : วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดตามแนวพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวัด เพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
ลักษณะของวัดมีความเฉพาะแตกต่างจากวัดอื่น เนื่องจากเป็นวัดขนาดเล็ก ใช้งบประมาณที่ประหยัดและเรียบง่ายที่สุด ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระจำนวน 5 หลัง โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังจะใช้สีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม ส่วนอุโบสถจะเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ
สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระอุโบสถ มีลักษณะผสมผสานกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งการใช้สอยเป็นสำคัญ และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2540 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศตั้ง วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์
พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) พระประธานที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถ ได้รับการออกแบบจาก เรืออากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ซึ่งเป็นสถาปนิกของกรมศิลปากร และได้ทำการออกแบบทั้งสิ้น 7 แบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) โดยได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง และคณะอนุกรรมการการก่อสร้างฯ ได้มอบให้ อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ปั้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยในครั้งนี้ โดยมีขนาดความสูงจากทับเสร็จ (หน้ากระดาน) ถึงปลายรัศมี 180 เซนติเมตร ขนาดหน้าพระเพลา 120 เซนติเมตร มีพุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ ฐานชุกชีทำด้วยหินอ่อน ส่วนองค์พระพุทธรูปทำด้วยทองเหลืองผสมทอง ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอุดมคติและเหมือนจริง ด้วยการห่มจีวรแบบพระสงฆ์ที่เหมือนจริง แต่มีพระเกศาเป็นอุดมคติ ซึ่งมีลักษณะที่สวยงาม กลมกลืน และประณีตยิ่งนัก
สถานที่ตั้ง : ถนนพระราม 9 ซอย 19 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร